วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

ปัตตาเวีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเข็มปัตตาเวีย

เข็มปัตตาเวียเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae เช่นเดียวกับสบู่ดำ เข็มปัตตาเวียมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha integerrima Jacq. ชื่อสามัญคือ peregrine หรือ spicy jatropha มีถิ่นกำเนิดในเวสท์อินดีส (WestIndies) ในประเทศคิวบา และรัฐฟลอริดาตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนโครโมโซม 2n = 2x = 22 เหมือนกับสบู่ดำ มีความต้านทานต่อศัตรูพืช ทนแล้ง และเมล็ดมีปริมาณกรด linoleic สูง เป็นพืชที่มีแนวโน้มที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสกุล Jatropha และสกุล Ricinusได้ (Sujatha, 1996) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร เนื้อไม้มีลักษณะกึ่งแข็ง เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา กิ่งอ่อนสีน้ำตาลแดง มีจุดหายใจ (lenticel) สีน้ำตาลประทั่วไปที่ลำต้นและกิ่ง แตกกิ่งก้านมากและมักโค้งลงสู่พื้นดิน

ใบ (leaves)ก้านใบยาว ใบเดี่ยวทรงรีรูปไข่ กว้าง 4-6 ซม.ยาว 10-12 ซม.โคนใบมน ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว ปลายใบโค้งมนมีติ่งหาง ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างสีเขียวอมแดง บางสายพันธุ์ใบมีหยักเว้า 2-4 หยัก

ดอก (flower)ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีแดงหรือสีชมพูขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกทยอยบาน ดอกบานเต็มที่กว้าง 2.5-3 ซม.


ผล (fruit) ผลมีรูปทรงไข่ มีสามพูผลอ่อนสีเขียวเข้มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 ซม. เมื่อเริ่มแก่ผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และจะแตกดีดออกทำให้เมล็ดหลุดร่วง มีเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อผล เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาล (ธนาภรณ์, 2555) ในเมล็ดมีปริมาณน้ำมันประมาณร้อยละ 30-35 แต่ไม่นิยมนำเอามาสกัดน้ำมันเพราะให้ผลผลิตต่ำ แต่มีดอกสวยงามมักใช้เป็นไม้ประดับ (Parthiban et al., 2009)



                                                                                                                        ชำนาญร์ เพ็ชรรัตน์































สบู่ดำ

การศึกษาสมรรถนะการผสมในลักษณะทางพืชไร่ของสายพันธุ์ที่พัฒนาจาก
การผสมข้ามชนิดระหว่างสบู่ดำกับเข็มปัตตาเวีย

Combining Ability of Agronomic Characters in Breeding Lines Derived from
Interspecific Cross between Jatropha and Peregrina

คำนำ

สบู่ดำ (jatropha) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae  สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่สำคัญคือ ใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันนี้มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก  และประเทศไทยเองก็ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศซึ่งมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น สบู่ดำจึงเป็นพืชพลังงานชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเป็นส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล (Gu et al., 1999) เนื่องจากคุณสมบัติน้ำมันในเมล็ดสบู่ดำมีความคล้ายคลึงกับน้ำมันดีเซล สามารถนำไปเติมเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ (Openshaw, 2000) อีกทั้งน้ำมันสบู่ดำไม่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ เนื่องจากมีสารพิษบางชนิดอย่างฟอร์บอลเอสเตอร์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ (Ahmed and Salimon, 2009) ประกอบกับสบู่ดำเป็นพืชที่สามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งได้ดี เจริญเติบโตรวดเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกได้ภายใน 1 ปี ขยายพันธุ์ง่าย และไม่ค่อยมีการรบกวนของโรคและแมลงศัตรูพืช แต่ในปัจจุบันสายพันธุ์สบู่ดำที่มีอยู่ยังให้ผลผลิตเมล็ดและปริมาณน้ำมันในเมล็ดค่อนข้างต่ำ ผลสุกแก่ไม่พร้อมกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำให้มีผลผลิต และลักษณะทางการเกษตรที่ดีต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งในการวางแผนปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำได้โดยการประเมินสมรรถนะการผสมเพื่อให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเพื่อใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่ในการสร้างลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงในอนาคตได้

จากการดำเนินงานของโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเร่งการปลูกเลี้ยงสบู่ดำพันธุ์ใหม่สำหรับเป็นพลังงานและอาหารสัตว์” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า สบู่ดำสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสบู่ดำ (J.curcas L.) กับเข็มปัตตาเวีย (Jatropha integerrima Jacq.) มีลักษณะที่หลากหลาย ให้ผลผลิตเมล็ดและปริมาณน้ำมันในเมล็ดเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์ดีเด่นไว้ 15 สายพันธุ์ เพื่อนำมาศึกษาสมรรถนะการผสมโดยใช้แผนการผสมพันธุ์แบบพบกันหมด ซึ่งจะทำให้ทราบถึงทั้งสมรรถนะการผสมทั่วไป (general combining ability, GCA) และสมรรถนะการผสมเฉพาะ (specific combining ability, SCA) ทั้งยังอาจทำให้ทราบลักษณะที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพในการให้ผลผลิต อันจะมีส่วนช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์พ่อแม่ และลูกผสมเพื่อใช้ในการพัฒนาประชากรหรือสายพันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตสูงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


                                                                                                        ชำนาญร์ เพ็ชรรัตน์