วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559

สบู่ดำ

การศึกษาสมรรถนะการผสมในลักษณะทางพืชไร่ของสายพันธุ์ที่พัฒนาจาก
การผสมข้ามชนิดระหว่างสบู่ดำกับเข็มปัตตาเวีย

Combining Ability of Agronomic Characters in Breeding Lines Derived from
Interspecific Cross between Jatropha and Peregrina

คำนำ

สบู่ดำ (jatropha) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae  สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่มีประโยชน์หลากหลาย แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่สำคัญคือ ใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันนี้มีความต้องการใช้น้ำมันเป็นพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก  และประเทศไทยเองก็ต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศซึ่งมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น สบู่ดำจึงเป็นพืชพลังงานชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกในการผลิตเป็นส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล (Gu et al., 1999) เนื่องจากคุณสมบัติน้ำมันในเมล็ดสบู่ดำมีความคล้ายคลึงกับน้ำมันดีเซล สามารถนำไปเติมเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ (Openshaw, 2000) อีกทั้งน้ำมันสบู่ดำไม่สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้ เนื่องจากมีสารพิษบางชนิดอย่างฟอร์บอลเอสเตอร์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ (Ahmed and Salimon, 2009) ประกอบกับสบู่ดำเป็นพืชที่สามารถปลูกในพื้นที่แห้งแล้งได้ดี เจริญเติบโตรวดเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากปลูกได้ภายใน 1 ปี ขยายพันธุ์ง่าย และไม่ค่อยมีการรบกวนของโรคและแมลงศัตรูพืช แต่ในปัจจุบันสายพันธุ์สบู่ดำที่มีอยู่ยังให้ผลผลิตเมล็ดและปริมาณน้ำมันในเมล็ดค่อนข้างต่ำ ผลสุกแก่ไม่พร้อมกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำให้มีผลผลิต และลักษณะทางการเกษตรที่ดีต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งในการวางแผนปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำได้โดยการประเมินสมรรถนะการผสมเพื่อให้สามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเพื่อใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่ในการสร้างลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงในอนาคตได้

จากการดำเนินงานของโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเร่งการปลูกเลี้ยงสบู่ดำพันธุ์ใหม่สำหรับเป็นพลังงานและอาหารสัตว์” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า สบู่ดำสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างสบู่ดำ (J.curcas L.) กับเข็มปัตตาเวีย (Jatropha integerrima Jacq.) มีลักษณะที่หลากหลาย ให้ผลผลิตเมล็ดและปริมาณน้ำมันในเมล็ดเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม จึงได้ทำการคัดเลือกสายพันธุ์ดีเด่นไว้ 15 สายพันธุ์ เพื่อนำมาศึกษาสมรรถนะการผสมโดยใช้แผนการผสมพันธุ์แบบพบกันหมด ซึ่งจะทำให้ทราบถึงทั้งสมรรถนะการผสมทั่วไป (general combining ability, GCA) และสมรรถนะการผสมเฉพาะ (specific combining ability, SCA) ทั้งยังอาจทำให้ทราบลักษณะที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพในการให้ผลผลิต อันจะมีส่วนช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์พ่อแม่ และลูกผสมเพื่อใช้ในการพัฒนาประชากรหรือสายพันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตสูงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


                                                                                                        ชำนาญร์ เพ็ชรรัตน์
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น